นางสาวปิยภรณ์ หาญอนุสรณ์ นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชา การบริหารการศึกษา (ภาคพิเศษ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ยินดีต้อนรับค่ะ

วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สรุปบทความ สาระสำคัญ และวิพากษ์บทความ เรื่อง ระเบียบวินัยสร้างได้ตั้งแต่เด็ก

จากชื่อเรื่องอาจจะไม่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารหลักสูตรหรือผู้นำทางวิชาการ แต่ที่ข้าพเจ้านำบทความเรื่อง ระเบียบวินัยสร้างได้ตั้งแต่เด็ก มาสรุปสาระสำคัญพร้อมทั้งวิพากย์บทความนั้นก็เพราะว่าจากที่ข้าพเจ้าได้อ่านเนื้อหาของบทความดังกล่าวแล้ว ทำให้ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าผู้ที่ทำหน้าที่บริหารสถานศึกษา ให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างระเบียบวินัยให้กับเด็ก ตั้งแต่อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียนประถมศึกษานั้น จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้
ซึ่งจากบทความดังกล่าว ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ในการนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารสถานศึกษาได้
บทความ บทนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการที่ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับทุน Monbusho จากรัฐบาลญี่ปุ่นให้ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการศึกษา รวมถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่นของประเทศญี่ปุ่น ณ Yokohama National
University เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน พบว่าในการดำเนินชีวิตประจำวันของเด็กนักเรียนประถมศึกษาในประเทศญี่ปุ่นมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นการรอขึ้นรถไฟ หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียบ โดยไม่ต้องบอกหรือบังคับ อาจจะเป็นเพราะเหตุผลดังต่อไปนี้
1. สภาพแวดล้อมที่รอบตัวเด็ก เช่น สถานีรถไฟ หรือร้านอาหารต่าง ๆ มีการจัดวางสิ่งของอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยและสะอาด
2. สภาพแวดล้อมภายในบ้านที่ถูกจัดให้เป็นระเบียบ
3. ความเคยชินกับความเป็นระเบียบของคนในบ้าน
4. การใช้เวลาว่างทำกิจกรรมที่ตนเองชอบและเป็นประโยชน์
5. การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันอย่างเป็นระบบระเบียบต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
6.ความมีวินัยในตัวเด็กจะมีความสัมพันธ์กับปัจจัยที่แวดล้อมตัวเด็กและการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่
ซึ่งจากเหตุผลเหล่านี้ ทำให้เราสามารถทราบได้ว่า การที่เด็กจะมีพฤติกรรมที่มีระเบียบวินัยได้นั้น
การจัดสภาพแวดล้อมก็สามารถส่งเสริมและเอื้อให้เกิดระเบียบวินัยขึ้นในตัวเด็ก โดยการจัดพื้นที่ใช้สอยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภายในบ้านหรือนอกบ้าน เช่น โรงเรียน สถานีรถไฟ ตามทางเดินทุกอย่างจัดขึ้นให้ทุกคนสามารถทำกิจกรรมในชีวิตได้อย่างคล่องตัว ซึ่งเอื้อต่อการเกิดวินัยในตนเอง โดยไม่รู้สึกอึดอัด รู้จักเคารพสิทธิของคนอื่น
ซึ่งเมื่อมองย้อนมาดูระเบียบวินัยของเด็กนักเรียนในโรงเรียนของไทย มีการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่ไม่ค่อยมีระเบียบวินัยนัก เช่น 1.ยังขาดการรู้จักอดทน 2. ไม่มีความเป็นระเบียบในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน 3. ไม่ส่งงานตรงเวลาที่กำหนด 4. ส่งเสียงดังในสถานที่ห้ามส่งเสียง 5. แต่งกายไม่ถูกระเบียบ 6. ฝ่าฝืนวินัยถ้าครูเผลอ
วินัย (Discipline) มาจากรากศัพท์ว่า Disciple ซึ่งหมายถึง การติดตามหรือการศึกษาภายใต้ผู้นำซึ่งเป็นที่ยอมรับ
นักวิชาการ หลายท่าน กล่าวถึง วินัย ไว้สามารถสรุปได้ว่า วินัยจะเป็นการที่บุคคลรู้จักปกครองตนเองและทำตามระเบียบวินัยด้วยความสมัครใจเพื่อให้เกิดความสุขและความมีระเบียบเรียบร้อยของสังคม
ความจำเป็นในการสร้างระเบียบวินัยในโรงเรียน
ในการสร้างวินัย ควรให้เด็กปฏิบัติตามระเบียบ โดยเด็กได้เข้าใจเหตุผลและเห็นดีงาม จากการปฏิบัติตามระเบียบนั้น อย่าให้เด็กรู้สึกว่าถูกบังคับ นักเรียนอยู่ในโรงเรียนด้วยความสุข ความเจริญทางอารมณ์ สังคมและสติปัญญาได้นั้นย่อมต้องมีสิ่งสำคัญช่วยพัฒนาเด็กเหล่านั้น และนั่นก็คือ ความมีวินัย อีกทั้งความรับผิดชอบในตัวเขา เนื่องจากวินัยช่วยสร้างและรักษาไว้ซึ่ง ความเจริญก้าวหน้าให้กับนักเรียนและโรงเรียน และเป็นเครื่องมือเตรียมตัวนักเรียนสำหรับดำเนินชีวิตในภายหน้า การสร้างวินัยให้เกิดขึ้นกับคนในชาติว่าเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งควรเริ่มสร้างและพัฒนาตั้งแต่เด็ก ในการสร้างวินัยควรให้เด็กปฏิบัติตามระเบียบ โดยเด็กได้เข้าใจเหตุผลและเห็นดีเห็นงามจากการปฏิบัติตามระเบียบนั้น วินัยที่ดีต้องอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการปลูกฝังวินัยในตนเองที่ดีที่สุด ครูควรมีส่วนช่วยนักเรียนให้รู้จักประพฤติดี ครูควรปฏิบัติต่อเด็กที่ทำผิดวินัยด้วยการคำนึงถึงพื้นฐานตัวเด็กที่กระทำผิดนั้น ๆ
วินัยอาจจะพบเห็นในโรงเรียน ดังนี้
1.วินัยเฉียบขาดแบบทหาร เป็นการใช้ความกล้าเป็นเครื่องมือ
2.วินัยแบบดำเนินงานให้สอดคล้องกับความสนใจของนักเรียน
3. วินัยที่เกิดขึ้นจากการรู้จักความรับผิดชอบและเกียรติของตนเอง
ความผิดทางวินัยของนักเรียนที่เราพบเสมอในโรงเรียน
ครูพบว่าสาเหตุของการกระทำผิดวินัยของนักเรียนมีสาเหตุอยู่หลายอย่างด้วยกัน
1. ปัญหาที่มีสาเหตุมาจากโรงเรียน ได้แก่
1.1 การสอนที่ใช้ไม่ได้
1.2 หลักสูตรไม่ตรงกับความต้องการของผู้เรียน
1.3 ตารางสอนที่ตายตัวเกินไป
1.4 ไม่มีการปรับโปรแกรมการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของผู้เรียน
2. ปัญหาที่สาเหตุมาจากตัวนักเรียน ได้แก่
2.1 นักเรียนไม่เข้าใจกฎระเบียบต่าง ๆ
2.2 นักเรียนไม่เข้าใจเหตุผลของการมีระเบียบ
2.3 พื้นฐานการศึกษาของนักเรียนไม่ดีพอ
2.4 นักเรียนมีความสัมพันธ์กับเพื่อนในทางที่ไม่ดี
2.5 นักเรียนมีเรื่องกระทบกระเทือนทางจิตใจ
2.6 นักเรียนมีความรู้สึกที่ขัดแย้งกับครู
3. ปัญหาที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางบ้านและชุมชนที่นักเรียนอาศัยอยู่
3.1 สภาพการใช้อำนาจของบุคคลและความสัมพันธ์ภายในบ้านไม่ดีพอ
3.2 บ้านอยู่ในทำเลที่มีอาชญากรรม
3.3 นักเรียนมีกิจกรรมหรือต้องทำงาน
วิธีการที่สามารถป้องกันการกระทำผิดวินัย ซึ่งครูหรือผู้ที่จะเป็นครูต่อไปในอนาคต สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งวิธีการดังกล่าว ได้แก่
1. สร้างความจูงใจในบทเรียน ครูควรสร้างบุคลิกภาพที่ไม่ก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายในชั้นเรียน ตัวบทเรียนที่ครูสอน ควรเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
2. การสร้างความรักโรงเรียนให้เกิดขึ้นในหมู่นักเรียน
3. การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคณะครูในโรงเรียน
4. การพยายามขจัดสิ่งยั่วยุที่ก่อให้เกิดการกระทำผิดวินัย การจัดสิ่งแวดล้อมภายนอกตัวนักเรียนและการขจัดสิ่งยั่วยุภายใน เช่น ความรู้สึกสบายใจ โดยไม่มีการถูกบีบบังคับ
5. การให้รางวัลความประพฤติดี เช่น มอบใบประกาศนียบัตรต่าง ๆ
6. การชี้แจงตักเตือนเป็นรายบุคคลหรือเป็นหมู่
7. การจัดกิจกรรม ถือว่าเป็นการให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
8. ความร่วมมือระหว่างบ้านและโรงเรียนวิธีการสำคัญที่ครูใช้ในการติดต่อขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง โดยการจัดประชุมระหว่างครูกับผู้ปกครองและสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ เช่น
8.1 การสื่อสารด้วยเอกสาร
8.2 การสื่อสารด้วยภาพ
8.3 การพบปะส่วนตัว ระหว่างครู และบิดามารดา
8.4 การประชุมระหว่างครู / ผู้ปกครอง
ในการสร้างวินัยให้เกิดกับนักเรียน ครูควรมีหลักการสำคัญในการสร้างวินัยให้เกิดกับนักเรียน มีความจริงใจ มีความยุติธรรม ครูไม่ควรทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกต่ำต้อยหรือทำให้เกิดความรู้สึกอับอายขายหน้า เด็ก ๆ ควรได้รับการช่วยเหลือให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนที่มีคุณค่าเท่าเทียม ผู้ใหญ่จะต้องพยายามสร้างสังกัป หรือความคิดที่มีต่อตนเองว่า ตนเป็นคนดีมีคุณค่า เท่าเทียมกับคนอื่น ซึ่งถ้าปลูกฝังได้สำเร็จ สังกัปนั้นจะทำให้เด็กเกิดความมั่นใจในเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเองและจะมุ่งมั่นรักษาเกียรติประวัติของตนให้ดีอยู่เสมอตลอดไปในชีวิต
ตัวอย่างกิจกรรมที่สามารถนำมาใช้ในการสร้างวินัยให้เด็ก เช่น
- ฝึกให้เด็กเรียนรู้ถึงสัญญาณต่าง ๆ
- การพาเด็กนักเรียนเดินไปรอบอาคารเรียนบ้าง เป็นการช่วยให้เด็กทิ้งความวุ่นวายไปเสียบ้าง
- ควรมีการสื่อสารกับเด็กอย่างชัดเจน โดยใช้คำพูดที่ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับกฎระเบียบต่าง ๆ
- ควรหากิจกรรมที่ช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายความเครียด
- ฝึกให้เด็กทบทวนการกระทำของตนเอง โดยเขียนบันทึกลงในสมุด
- ให้เด็กรู้จักวิธีคิดหาหนทางแก้ไขปัญหา เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
- มีข้อตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร
- ในบางครั้ง ครู ควรใช้การสัมผัสกำหนดพฤติกรรม
ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายที่สามารถช่วยเหลือนักเรียนให้เกิดวินัยในตัวเองได้ ครูสามารถจัดให้เหมาะสมกับเด็ก ๆ ตามวัยและพึงระลึกไว้เสมอว่า วินัยที่ดี คือ วินัยที่เกิดขึ้นเพราะนักเรียนรักที่จะทำดี
สรุป ระเบียบวินัย เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สามารถอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างระเบียบให้เกิดขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่เด็ก ให้พวกเขาได้รับการฝึกประสบการณ์การสร้างวินัยทีละเล็กทีน้อยจนเกิดเป็นนิสัย เด็กสามารถเรียนรู้ได้จากการกระทำของผู้ใหญ่หรือจากสภาพแวดล้อมที่พบเห็นและสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง จะพบว่าระเบียบวินัยสามารถสร้างได้ตั้งแต่เด็กซึ่งอาจจะสามารถทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้อนาคต

วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553

บทบาทของผู้บริหารในการประกันคุณภาพทางการศึกษา

ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 กำหนดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา โดยให้มีการประกันทั้ง
การประกันคุณภาพภายใน และ การประกันคุณภาพภายนอก ให้สถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัดถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหาร โดย
(1) ให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
(2) จัดทำรายงานประจำปีเสนอ หน่วยงานต้นสังกัด , หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสาธารณชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและรองรับการประกันคุณภาพภายนอก (มาตรา 48)
ซึ่งผู้บริหารมีบทบาทอย่างยิ่งในการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
ระบบการประกันคุณภาพภายใน เป็นการประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายในโดยบุคลากรของสถานศึกษานั้นเองหรือโดยหน่วยงานต้นสังกัดที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานศึกษานั้น
โรงเรียนจะต้องพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารจัดการศึกษา โดยอาศัยหลักการดังนี้
(1) เป้าหมายสำคัญของการประกันคุณภาพ คือ การพัฒนาผู้เรียน
(2) ถือว่าการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหาร
(3) ถือว่าบุคลากรทุกคนรวมทั้งที่เกี่ยวข้อง (เช่นคณะกรรมการสถานศึกษา) มีหน้าที่ร่วมรับผิดชอบในการประกันคุณภาพตั้งแต่การวางแผน การติดตามประเมินผล การพัฒนาปรับปรุง การช่วยคิด ช่วยทำช่วย ผลักดัน ฯลฯ
ขั้นตอนการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ผู้บริหารควรมีการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้
1. การเตรียมการ สถานศึกษาควรเตรียมการในเรื่องต่อไปนี้
1.1 การเตรียมความพร้อมของบุคลากร ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องจัดให้บุคลากรในสถานศึกษามีความพร้อม ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1.1.1 การสร้างความตระหนัก ผู้บริหารถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะทำให้บุคลากร ซึ่งได้แก่ ครู นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน เกิดความตระหนักเห็นความสำคัญและความจำเป็นของการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ผู้บริหารอาจใช้เทคนิควิธีการ เช่น
- สร้างทีมงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา
- ให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการระดมความคิดร่วมกันวางแผนและร่วมกันทำงาน
- สร้างมนุษยสัมพันธ์ในการดำเนินงาน
- เสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้เกิดขึ้นกับผู้ร่วมงาน
- มีภาวะผู้นำทางวิชาการ ฯลฯ
1.1.2 การสร้างเสริมความรู้ อาจทำได้โดย
-ผู้บริหารและบุคลากรของสถานศึกษาที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ชี้แจงถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคลากรในสถานศึกษา
-เชิญบุคลากรภายนอกสถานศึกษาที่มีความรู้ความเข้าใจมาเป็นวิทยากร
-นำบุคลากรในสถานศึกษาเยี่ยมชมและศึกษาดูงานในสถานศึกษาที่มีความพร้อมหรือประสบผลสำเร็จจากการประกันคุณภาพการศึกษา
1.1.3 การกำหนดความรับผิดชอบ ผู้บริหารสถานศึกษามีความจำเป็นที่จะต้องจัดโครงสร้างและระบบการทำงานให้ชัดเจนพร้อมกับกำหนดและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละคนและแต่ละส่วนงานตามโครงสร้างและระบบงานที่กำหนดขึ้นอย่างชัดเจนเพื่อมิให้การดำเนินงานซ้ำซ้อนและขัดแย้งกันและเพื่อให้การดำเนินงานทุกภาระงานมีผู้รับผิดชอบอย่างแท้จริง
1.2 การศึกษาข้อมูลสารสนเทศ
การบริหารจัดการและการตัดสินใจดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษานี้จะต้องมีการศึกษาข้อมูลสารสนเทศ เช่น
- ผลการดำเนินการและการประเมินตนเองในรอบปีที่ผ่านมา
- นโยบายของหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ข้อมูลสารสนเทศของโรงเรียนตนเอง ฯลฯ
2. การดำเนินการ
มีการวางแผนปฏิบัติงานโดยการจัดทำธรรมนูญโรงเรียน / แผนพัฒนาการศึกษา (P)
การปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ (D) , การประเมินตนเอง (C) , และการปรับปรุง (A) มีรายละเอียดดังนี้
2.1 การจัดทำธรรมนูญโรงเรียน / แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา (Plan) ธรรมนูญโรงเรียนมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ภาพรวมของสถานศึกษา ความคาดหวังของสถานศึกษา พันธกิจ เป้าหมาย
จุดเน้นในการดำเนินงาน ยุทธศาสตร์ แผนงบประมาณ บทบาทหน้าที่ของบุคลากรในสถานศึกษา
2.2 การปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ (Do) บุคลากรที่เกี่ยวข้องได้ระบุหน้าที่ความรับผิดชอบไว้แล้วจะเป็นตัวขับเคลื่อนทำให้โครงการในแผนดำเนินไปได้ ระหว่างการดำเนินการอาจมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดขั้นตอนของการดำเนินการได้ เพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ผู้บริหารควรจัดให้มีการส่งเสริม สนับสนุน จัดสิ่งอำนวยความสะดวก ติดตาม ดูแล กำกับ และการนิเทศดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
2.3 การประเมินตนเอง (Check) การประเมินตนเอง คือ กระบวนการในการบริหารจัดการศึกษาที่ใช้ควบคุม ตรวจสอบคุณภาพภายในสถานศึกษา
ขั้นตอนการประเมินตนเอง มี 6 ขั้นตอน คือ 1. การสร้างความตระหนัก 2. การเตรียมความพร้อม
3.วางแผนการประเมินตนเอง 4.การประเมินตนเอง 5.เขียนรายงานและการเผยแพร่6.นำผลการประเมินไปใช้
การประกันคุณภาพภายใน เป็นภารกิจหลักของสถานศึกษาที่ ผู้บริหารสถานศึกษา จะต้องดำเนินการและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อสนับสนุนให้สถานศึกษามีคุณภาพรอบด้านและเป็นพื้นฐานในการสร้างคุณภาพของสังคม หน่วยงานต้นสังกัดจึงมีภาระในการสนับสนุนให้เกิดการประกันคุณภาพในสถานศึกษา การดำเนินงานของหน่วยงานต้นสังกัดอาจทำได้ในแนวทางต่อไปนี้
1. จัดทำคู่มือ / แนวทางการดำเนินงาน 2. นิเทศ ติดตาม ช่วยเหลือ 3. ระดมกำลังช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย
4. กระตุ้นสถานศึกษาให้ดำเนินการประกันคุณภาพภายใน 5. ประสานการประเมินกับสถานศึกษา
6. นำผลการประเมินตนเองมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา